องทุนรวม คือ เครื่องมือในการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ผู้ลงทุนหลาย ๆ คนนำเงินลงทุนมารวมกัน และมอบหมายให้มืออาชีพ ซึ่งก็คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีความเชี่ยวชาญในการ จัดการลงทุนและได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. เป็นผู้บริหารจัดการเงินลงทุนก้อนนั้น
     เปรียบได้ง่าย ๆ เหมือนบริษัททัวร์ที่จัดการไกด์ ยานพาหนะและสถานที่พักและนำพาผู้ลงทุนทั้งหมด เดินทางไปด้วยกันเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางการเงินตามที่คาดหวังไว้
ในการจัดตั้งกองทุนรวม บลจ. จะยื่นรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งรวมถึง นโยบายการลงทุนเพื่อขอจัดตั้งกองทุนรวมกับ ก.ล.ต. เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว บลจ. ก็จะออก และเสนอขาย “หน่วยลงทุน” ของกองทุนรวมให้กับผู้ลงทุน เมื่อเสร็จสิ้นการขายก็จะนำเงินค่าขาย หน่วยลงทุนที่ได้มารวมเป็นกองทรัพย์สิน และนำมาจดทะเบียนเป็น “กองทุนรวม” กับ ก.ล.ต. ซึ่ง จะทำให้กองทุนรวมมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก บลจ. ทันที (ซึ่งหาก บลจ. ที่บริหาร กองทุนรวมเกิดประสบปัญหาด้านการเงินหรือปิดกิจการ ทรัพย์สินของกองทุนรวมก็จะไม่ถูกกระทบ) หลังจากนั้น บลจ. จะนำเงินลงทุนของผู้ลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินต่างๆ เช่น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น เพื่อนำดอกผลกลับคืนมาสู่กองทุนรวมนั้นต่อไป
ประเภทและนโยบายของกองทุนรวม
กองทุนรวมจะมีทั้งแบบกองทุนปิดและกองทุนเปิด โดยกองทุนปิด คือกองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนเพียงครั้งเดียวและ กำหนดอายุของกองทุนรวมเอาไว้ เช่น 3 ปี 5 ปี เป็นต้น เมื่อผู้ลงทุนซื้อกองทุนปิด จะต้องรอจนกว่าจะครบอายุของกองทุนรวม จึงจะ สามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนคืนได้ ส่วนกองทุนเปิด คือกองทุนรวมที่ผู้ลงทุนสามารถซื้อ-ขายหน่วยลงทุนได้ตามช่วงเวลาที่ บลจ.กำหนด เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ เป็นต้น และไม่มีกำหนดอายุสิ้นสุดไว้ จึงเป็นกองทุนรวมที่ค่อนข้างคล่องตัว เพราะผู้ลงทุนสามารถเข้ามาซื้อขาย ได้ในเวลาที่ต้องการ
สำหรับนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมก็จะมีหลากหลาย เช่น กองทุนรวมตราสารทุน เน้นลงทุนในหุ้น กองทุนรวมตราสารหนี้ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมผสม เน้นลงทุนทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ นอกจากนั้น ยังมีกองทุนรวมพิเศษอื่นๆ อีก เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน คือ กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในเงินฝากหรือตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี กองทุนรวม คุ้มครองเงินต้น ที่เน้นคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนอย่างระมัดระวัง เพื่อมุ่งหวังที่จะคุ้มครองเงินลงทุนเริ่มต้น กองทุนรวมมีประกัน ที่จัดให้มีบุคคลที่สามมาค้ำประกันเงินลงทุนให้ผู้ลงทุน กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือ ตราสารทางการเงินต่างๆ ในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
มูลค่าและผลตอบแทนของกองทุนรวม
การดูมูลค่าเงินลงทุนของกองทุนรวมจะดูได้ที่ มูลค่าของกองทุนรวมทั้งกองทุน หรือที่เรียกกันจนคุ้นหูว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ กองทุนรวม (Net Asset Value: NAV หรือ เอ็นเอวี) ซึ่งคำนวณได้จาก
*ผลตอบแทนที่กองทุนรวมได้รับ ได้แก่ เงินปันผล ดอกเบี้ยรับ กำไรจากการลงทุน (capital gain)
**ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ (management fee) ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ เป็นต้น
หากจะหา NAV ต่อหน่วย ก็นำจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวมมาหารมูลค่า NAV โดย บลจ. จะต้องคำนวณ NAV และ NAVต่อหน่วยทุกสิ้นวันทำการ (ทั้งกรณีของกองทุนรวมปิดและกองทุนรวมเปิด) เนื่องจาก NAV จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกวันและเป็น ตัวสะท้อนผลการดำเนินงานของกองทุนรวมว่าเป็นบวกหรือลบ คือ ได้กำไรหรือขาดทุน สำหรับกองทุนรวมแบบเปิดจะมีการประกาศ มูลค่า NAV ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบในวันทำการถัดไป ทางหนังสือพิมพ์รายวัน หรือเว็บไซต์ของ บลจ. เอง ส่วนกรณีกองทุนรวมปิด บลจ. จะประกาศมูลค่า NAV ของเฉพาะวันทำการสุดท้ายของเดือนเท่านั้น
ผลตอบแทนที่กองทุนรวมจะได้รับจากการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้แก่ เงินปันผล หุ้นเพิ่มทุน ดอกเบี้ยรับ และกำไรส่วนเกินทุน หรือ capital gain และสำหรับผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนก็ได้แก่ เงินปันผล (กรณีกองทุนรวม มีนโยบายจ่ายเงินปันผล) หรือ capital gain กรณีที่ขายหน่วยลงทุนออกไปตอนที่มูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้น
อย่าลืมว่า กองทุนรวมไม่ใช่เงินฝาก แม้จะขายผ่านธนาคารพาณิชย์ก็ตาม การลงทุนในกองทุนรวมอาจมีโอกาสที่ผู้ลงทุน จะไม่ได้รับเงินต้นคืนครบจำนวน (ยกเว้นกองทุนรวมบางประเภทที่มีนโยบายคุ้มครองเงินต้น) เนื่องจากมูลค่าของกองทุนรวม มีการปรับขึ้นหรือลดลงได้ตามมูลค่าของตราสารทางการเงินหรือทรัพย์สินที่กองทุนรวมไปลงทุนในแต่ละวัน ผู้ถือหน่วยลงทุนจึงอาจ ขาดทุนได้ หากมีความจำเป็นต้องขายหน่วยลงทุนในช่วงที่ NAV ของกองทุนปรับลดลง
อย่าลืมว่ากองทุนรวมไม่ใช่เงินฝาก
แหล่งที่มา
www.start-to-invest.com